ดอกบัวอบแห้ง

ดอกบัวอบแห้ง
ไร่หนึ่งอรุณ

ผลิตงานดอกบัวอบแห้งในโถแก้ว
สไตล์ธรรมชาติ
ตามงบประมาณที่ลูกค้ากำหนดได้
มีหลากหลายรูปแบบโถแก้ว
เก็บรักษาได้นานกว่า 3 ปี
ห้ามถูกแสงแดด 

โทร 097-0987555
Line ID : joel224

วัสดุอุปกรณ์ ทำดอกบัวอบแห้ง

  1. ดอกบัว ที่สวยสมบูรณ์ บานไม่เกิน 2 วัน
  2. กรรไกร
  3. กระป๋องพลาสติก สำหรับอบดอกบัว 1 ใบ และสำหรับเก็บดอกบัวที่อบแล้วอีก 1 ใบ
  4. ซิลิก้าทราย สำหรับอบดอกบัวสด ให้กลายเป็นดอกบัวอบแห้ง
  5. ซิลิก้าเจล สำหรับเก็บรักษาดอกบัวที่อบแห้งแล้ว ให้อยู่ได้นาน
  6. โถแก้วหนา ที่จะนำมาตกแต่ง 
  7. กระจกสำหรับตัดเป็นฝา หนา บาง ให้สอดคล้องกับโถแก้วที่เลือกซื้อมา
  8. ลวดสำหรับนำมาเชื่อมต่อเป็นก้านใบ ก้านดอก
  9. เทปพันกาวสีเขียว เอาไว้พันก้านลวด
  10. กาวลาเท็ก
  11. กาวติดแก้ว ชนิดไหนก็ได้ ที่ติดแก้วได้ 
  12. วัสดุ อุปกรณ์อื่นๆ สำหรับนำมาตกแต่งในโถแก้ว (แล้วแต่ชอบ และหาได้)
  13. เรซิ่น สำหรับทำน้ำเทียม 
  14. กาวสำหรับทากระจก เพื่อปิดฝา และตัวโถแก้ว
  15. ภาชนะพลาสติก ขนาดที่ใหญ่กว่าโถแก้ว สำหรับอบโถบัวที่จัดเสร็จแล้วแต่ยังไม่ปิดฝา
  16. น้ำยาเช็ดกระจก พร้อมผ้าเช็ดกระจก

วิธีการทำ ดอกบัวอบแห้ง

  • ให้เลือกดอกบัวที่สวยสมบูรณ์ที่สุด จะบานวันที่ 1 หรือ วันที่ 2  ก็ได้ (แต่ไม่ควรนำดอกบัวบานวันที่ 3 มาอบแห้ง เพราะดอกจะเริ่มโรย) แนะนำให้ทำก่อนเที่ยง
  • เตรียมแก้วน้ำ และใส่น้ำลงครึ่งแก้ว พร้อมกับกรรไกร เพื่อเตรียมไปตัดดอกบัว
  • เตรียมซิลิก้าทราย (ตัวดูดซึมความชื้น หาซื้อได้ทั่งไป) ลักษณะจะเป็นเหมือนทราย ใช้อบดอกบัวสด และเตรียมซิลิก้าเจล ลักษณะเป็นเม็ดกลมๆเล็กๆ สำหรับอบเก็บรักษาดอกบัวที่ผ่านการอบแห้งมาแล้ว
  • เตรียมฟอเซป (หรือที่คีบ) สำหรับใช้จับก้านดอกบัว
  • เตรียมภาชนะพลาสติก ที่มีฝาปิดมิดชิด ไม่มีอากาศเข้าได้ ที่จะใช้สำหรับอบดอกบัว 1 ใบ และสำหรับเก็บดอกบัว 1 ใบ
  • เมื่อเลือกดอกบัวที่สวยสมบูรณ์ได้แล้ว จึงตัดดอกบัว โดยให้มีก้านดอกยาวประมาณ 15 เซ็นก่อน แล้วรีบปักลงไปในแก้วน้ำ (เพื่อไม่ให้ดอกบัวหุบ เพราะดอกพึ่งบาน)
  • หลังจากนั้นนำภาชนะพลาสติก ที่จะใช้ในการอบ เทซิลิก้าทราย ลงไปสักประมาณ 1 ใน 4 ของภาชนะ
  • ใช้กรรไกร ตัดก้านดอกบัว ออกไปเหลือประมาณ 3 เซ็นติเมตร แล้วใช้ฟอร์เซ็ป คีบก้านดอก แล้วนำไปปักลงบนซีลิก้าทราย ที่เตรียมไว้
  • ขั้นตอนนี้ สำคัญมาก จะต้องใช้ฝีมือ และประสบการณ์ โดยใช้ช้อนค่อยๆตักซิลิก้าทราย ลงไปที่ดอกบัว แล้วค่อยๆโปรยซิลิก้าทราย ช้าๆ ลงไปทีละชั้นกลีบของดอกบัว โดยเริ่มจากชั้นล่างก่อน ค่อยๆ เทไปทีละชั้น จนถึงชั้นกลีบบนสุด
  • จะต้องระวังอย่าใจร้อน มิเช่นนั้น กลีบดอกบัวจะพับ และอย่าลืมซิลิก้าทรายมีความร้อน ดอกบัวจะค่อยๆหุบ จึงต้องแข่งกับเวลา และความปราณีต ในการเทซิลิก้าทราย มิเช่นนั้นแล้ว ดอกอาจเสียหาย และอบมาก็ไม่สวยงาม
  • จากนั้น ให้เท ซิลิก้าทรายจะมิดดอกบัว ให้เหนือจากดอกบัวสักประมาณ 3 เซ็นติเมตร แล้วปิดฝาให้มิดชิด
  • จดวันที่เริ่มอบดอกบัวเอาไว้ รอเวลาประมาณ 5 วัน
  • จากนั้น ให้นำภาชนะพลาสติกอีกใบ เทซิลิก้าเจล ลงไปประมาณ ก้นภาชนะพลาสติก ไม่ต้องเยอะ
  • เปิดฝาที่อบดอกบัวเอาไว้ครบ 5 วันแล้ว แล้วค่อยๆ เทซิลิก้าทราย ออกจากดอกบัว ขณะเดียวกันก็ใช้ฟอร์เซ็ป ค่อยๆ คีบก้านบัว (จุดที่แข็งที่สุด)  ระวัง กลีบดอกบัวจะหักด้วย เพราะดอกแห้ง และกรอบ
  • ค่อยๆ สบัดดอกบัวเบาๆ หรือพู่กัน ค่อยๆปัด ซิลิก้าทรายที่ติดอยู่ที่ดอกบัวออกให้หมด
  • ใช้ฟอร์เซ็ปคีบก้านบัว นำมาวางในอาชนะอีกใบ (สำหรับเก็บดอกบัวที่อบแล้ว) แล้วปิดฝาให้สนิท ดอกบัวนี้จะมีอายุประมาณ 3 ปี ขึ้นไป สีจะซีดลงเรื่อยๆ
  • ตอนนี้ ก็มีดอกบัวพร้อมนำมาจัดลงในโถแล้วแล้ว
ดอกบัวอบแห้ง

วิธีการจัด โถบัวอบแห้ง

  • ออกแบบโถบัวอบแห้งที่ต้องการ ตามจินตนาการที่อยากจะจัดออกมาก่อน 
  • นำโถแก้ว ที่จะจัด ไปเจียปากโถแก้ว ให้เรียบร้อย และลบคมของมันออก พร้อมกับ นำกระจก ที่ไปหาซื้อตามร้านตัดกระจก นำมาตัดเป็นฝาปิด พร้อมกับเจียลบคม รอบๆฝาปิด ให้เรียบร้อย (เพราะตามร้านขายโถแก้ว ไม่ได้ขายฝาปิดมาด้วย จึงต้องตัดกระจกทำฝาปิดเอง) 
  • หาวัสดุ อุปกรณ์ที่วางแผนจะจัดในโถบัวอบแห้ง เช่น รากไม้ ดอกไม้แห้ง ใบไม้แห้ง ก้อนหิน กรวด ทราย เป็นต้น แล้วแต่จินตนาการว่าอยากให้ออกมาในรูปแบบไหน
  • วางแผนทำฐานราก สำหรับเก็บ ซิลิก้าเจล ลงในโถแก้วด้วย เพื่อรักษาให้ดอกบัวในโถแก้ว ยังคงแห้ง และคงความสวยงามได้นาน เช่น ปั้นดินญี่ปุ่นเป็นที่เก็บซิลิก้าเจล หรือหาวัสดุที่หาได้มาประยุกต์ใช้ แล้วนำมาวางเป็นฐานรากก่อน ติดกาวสำหรับติดแก้ว หรือวางให้เรียบร้อย ไม่ให้โคลงเคลง 
  • หาวัสดุที่หาได้ เช่น ฟองน้ำ หรือวัสดุใดๆ ที่จะใช้สำหรับปักดอกบัวอบแห้ง ไว้ตรงกลางของฐานราก ที่เราออกแบบเอาไว้ ติดลงไปให้เรียบร้อย
  • ตกแต่งฐานรากให้สวยงาม ด้วยวัสดุที่เราหาได้ เช่นใบไม้แห้ง มอสอบแห้ง จนพอใจในความสวยงาม
  • หากอยากได้น้ำ เสมือนเลี้ยงบัวจริงๆ ก็นำเรซิ่น มาทำเป็นน้ำเทียม เชื่อมต่อกับวัสดุตกแต่งที่เอาไว้เก็บซิลิก้าเจล แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง
  • หลังจากงานฐานรากของดอกบัวอบแห้งเรียบร้อยแล้ว ก็ให้นำซิลิก้าเจล มาใส่ลงในฐานรากที่เราวางแผนสำหรับเก็บเอาก่อนหน้าแล้ว ให้มีปริมาณมากพอ และเหมาะสมกับขนาดของโถแก้ว
  • หาวัสดุที่จะปิดไม่ให้ซิลิก้าทรายออกมาข้างนอก แล้วแต่หาได้ เช่นอาจใช้ผ้าบางๆ หรือใช้วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ นำมาตัดให้ขนาดสวยงาม ปิดซิลิก้าเจลได้มิดชิด 
  • นำใบบัวจริง ที่อบแห้งแล้ว นำมาเชื่อมต่อกับก้านลวด แล้วพันด้วยเทปพันกาวสีเขียว ให้เรียบร้อย สวยงาม (เนื่องด้วย ก้านใบบัว เมื่ออบแห้ง จะลีบ เราจึงต้องเชื่อมต่อด้วยลวดและเทปพันกาวสีเขียว พันอีกที) ให้ขนาดความยาวของก้าน เหมาะสมสำหรับที่จะปักลงไปในฐานราก
  • นำใบบัวปักลงไป รอบฐานราก ตามแบบที่ออกแบบไว้แล้ว ให้เรียบร้อย โดยทากาวลาเท็กเพื่อเพิ่มความแน่นหนาขณะที่ปักด้วย
  • นำดอกบัว ที่เราจะจัดลงไปในโถแก้ว นำมาเชื่อมต่อด้วยลวด และพันด้วยเทปกาวสีเขียว ให้สวยงาม ขนาดความยาว ตามที่เราออกแบบให้เหมาะสมกับขนาดความสูงของโถแก้ว และสไตล์ที่เราจะจัดออกมาให้สวยงาม ตามที่เราชอบ
  • นำดอกบัวมาปักลงในฐานราก ตามแบบที่เราวางเอาไว้ และเชื่อมด้วยกาวลาเท็ก เพื่อความแน่นหนามากขึ้น
  • ตกแต่งโถบัวให้สวยตามสไตล์ที่เราชอบ และออกแบบไว้ ด้วยวัสดุธรรมชาติต่างๆ ที่เราหาได้ และวางแผนไว้ ให้คล้ายกับธรรมชาติมากสุด ในรูปแบบที่เราชอบ
  • เมื่อจัดใบบัว และ ดอกบัว ได้ตามปริมาณที่ต้องการแล้ว และวางรูปทรงได้สวยงามแล้ว และพอใจแล้ว จะนำไปอบต่อ ทั้งโถบัว ในภาชนะพลาสติกที่ใหญ่กว่า โถบัว และมีซิลิก้าทราย วางรองไว้เยอะหน่อย เพื่อให้อบแห้ง แล้วปิดฝาภาชนะพลาสติก อบโถบัวนี้ประมาณ 2 – 3 วัน
  • นำโถบัวที่อบเรียบร้อยแล้ว ออกมาจากภาชนะอบ แล้วรีบนำกาวปิดกระจก มาทารอบๆขอบของโถแก้ว แล้วนำฝามาปิดที่โถแก้ว (ต้องรีบเพราะกาวจะแห้งเร็ว)
  • หลังจากทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง ทดสอบ ว่าไม่มีอากาศเข้าไปในโถแก้วได้ โดยใช้น้ำยาเช็ดกระจก ทาไปรอบๆฝาแก้ว ว่ามีฟองอากาศหรือไม่ ถ้าไมีมี ก็แสดงว่า การปิดฝาสนิทดี ถ้าปิดฝาไม่สนิท จะทำให้อากาศเข้าไป และดอกบัวอบแห้ง จะเหี่ยว จะไม่สามารถเก็บรักษาได้นานหลายปี จึงสำคัญมากต้องปิดฝาให้สนิทดี
  • หลังจากนั้น ก็ทำความสะอาดด้วยน้ำยาเช็ดกระจก ให้รอบๆ เพียงแค่นี้ ก็มี โถบัวอบแห้ง เอาไว้ประดับบ้านแล้ว